ตะโพนของหลวงพ่อพักตร์ วัดโบสถ์ ท่านนั้นเป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยเดียวกับหลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน
และหลวงพ่อชวน วัดยางมณี ท่านเป็นพระที่ทรงอภิญญาจิตชั้นสูง เรียบง่ายและสมถะ
วิชาเด็ดของท่านนอกจากเบี้ยแก้ที่มีพุทธคุณสูงเป็นที่ประจักษ์มานานแล้ว ยังมีอีกวิชาหนึ่งที่เรียกว่าโด่งดังไม่แพ้เบี้ยแก้ของท่าน
ก็คือ "ตะโพน" บางทีก็เรียกว่า "กลองตะโพน" "ตะโพนเรียกคน" ตามตำนานกล่าวไว้ว่า
สมัยก่อนแรกเริ่มเดิมทีคณะลิเกหอมหวลนั้น ยังเป็นคณะลิเกเร่รอนไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเปิดการแสดง
แต่เนื่องจากชื่อเสียงยังไม่เป็นที่รู้จักจึงทำให้มีคนมาชมการแสดงในแต่ละรอบน้อยมาก
เมื่อคณะลิเกหอมหวลเดินทางมาถึงจังหวัดอ่างทอง สมัยนั้นชื่อเสียงของหลวงพ่อพักตร์นั้นเป็นที่รู้จักกันดี
หัวหน้าคณะจึงเข้านมัสการและขออนุญาตท่านเพื่อจัดการแสดงลิเกที่วัดโบสถ์ ซึ่งท่านก็อนุญาตตามนั้น
คณะลิเกหอมหวลจึงตั้งโรงลิเกขึ้นและเริ่มการแสดงในวันถัดมา ปรากฎว่าผ่านไป 3 วันแล้วก็ยังมีผู้ชมมานั่งชมการแสดง
ในแต่ละคืนน้อยมาก จนหัวหน้าคณะเริ่มถอดใจและคิดจะย้ายโรงลิเกไปแสดงยังสถานที่อื่นต่อไป
จึงได้ขึ้นมากราบเรียนความประสงค์ให้ท่านทราบ หลวงพ่อท่านมีความเมตตาจึงบอกหัวหน้าคณะว่า
ให้ไปนำตะโพนมาให้ท่านแล้ววันรุ่งค่อยมานำกลับคืนไป หัวหน้าคณะจึงนำตะโพนลูกเดียวของคณะไปให้ท่าน
พอวันรุ่งก็ได้ไปรับกลับมาซึ่งหลวงพ่อท่านย้ำว่า ให้ออกแขก (การแสดงเริ่มต้นเพื่อเปิดโรง)
ตั้งแต่เย็นแล้วบรรเลงดนตรีไปเรื่อย ๆ แล้วจะมีคนมาดูเอง หัวหน้าคณะเมื่อได้ยินดังนั้นก็ไม่เชื่อเท่าไหร่
เพราะปกติการออกแขกจะนิยมเริ่มแสดงตอนหัวค่ำถ้าเริ่มตอนเย็นแล้วใครจะมาดูเย็นวันนั้น
ด้วยความอยากรู้ว่าหลวงพ่อท่านนั้นจะเก่งเหมือนที่ใคร ๆ ว่ากันหรือเปล่า จึงสั่งให้คณะลิเกของตนเริ่มออกแขก
ตั้งแต่เย็นและให้บรรเลงดนตรีไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาเริ่มแสดงจริงตอนหัวค่ำ ปรากฎว่าเย็นวันนั้น
เสียงตะโพนที่บรรเลงนั้นได้ยินไปไกลหลายหมู่บ้าน เสียงนั้นดังนุ่มนวลและมีพลัง ทำให้ผู้คนที่ได้ยินเสียงมีความเคลืบเคลิ้ม
จนต้องเดินทางมาชมการแสดงในเย็นวันนั้น ประมาณว่านั่งไม่ติดแล้วยังจูงลูกจูงหลานมานั่งชมการแสดงลิเกอีกด้วย
จากเมื่อเย็นคนมาไม่กี่คนพอหัวค่ำปรากฎว่ามีคนมานั่งชมการแสดงกันมากมาย เรียกได้ว่าตั้งแต่ตั้งคณะลิเกมา
ไม่เคยมีคนมานั่งชมมากแบบนี้มาก่อน ผ่านไปหนึ่งวันหัวหน้าคณะก็ยังไม่เชื่อว่าเกิดจากตะโพนที่หลวงพ่อท่านปลุกเสกให้
พอวันที่สองก็สั่งให้คณะเริ่มการแสดงเหมือนวันแรกก็ปรากฎว่าไม่มีอะไรผิดเพี้ยนจากวันแรก
และก็ลองอีกในวันที่สามผลก็ออกมาเช่นเดิมที่น่าแปลกใจก็คือขนาดฝนตกผู้ชมก็นั่งชมการแสดงแบบไม่ยอมกลับกันเลย
แม้ว่าฝนจะตกแต่ก็ยังนั่งทนเปียกกันอย่างนั้น พอรุ่งเช้าวันที่สี่หัวหน้าคณะพร้อมนักแสดงในคณะก็เลยพากันมากราบลานมัสการ
และขอบคุณหลวงพ่อและกราบเรียนให้ท่านทราบว่าในวันรุ่งคณะลิเกจะย้ายไปจัดแสดงยังสถานที่อื่นต่อไป
พอวันรุ่งทั้งคณะก็มากราบลาท่านด้วยความเคารพรัก หลังจากนั้นไม่นานชื่อเสียงของคณะลิเกหอมหวลนั้นก็เริ่มโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ
จนคณะลิเกอื่น ๆ ในสมัยนั้นทราบข่าว ต่างก็พากันมากันมาฝากตัวเป็นศิษย์และนำตะโพนของคณะมาให้หลวงพ่อท่านเสกกันมาก
และปรากฎว่าทุกคณะก็มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จากเหตุนี้เองทำให้งานประจำปีของหลวงพ่อท่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จะมีคณะลิเกไปตั้งโรงแสดงเพื่อเป็นการบูชาคุณหลวงพ่อท่าน และจากประสบการณ์ที่เลื่องลือเกี่ยวกับตะโพนของหลวงพ่อท่าน
ทำให้คนพื้นที่แถววัด โดยเฉพาะเด็กหนุ่มจะมาคะยั้นคะยอให้ท่านจัดสร้างตะโพนขนาดเล็ก (บางคนเรียก "ลูกกลอง")
ไว้ให้ลูกหลานได้ใช้กัน หลวงพ่อท่านจึงได้จัดสร้างตะโพนจากวัตถุดิบหลายชนิด อาทิ งาช้าง งากำจัด กระดูกสัตว์ เป็นต้น
แล้วนำมาเจาะรูตรงกลางเพื่อบรรจุผง จากนั้นจึงนำโลหะมาดัดเป็นขดสำหรับใช้คล้องคอและปิดทับรูที่อุดผงไว้
ท่านจัดสร้างครั้งละประมาณครึ่งบาตร ว่ากันว่าตลอดชีวิตของท่านจึงสร้างเพียงไม่กี่วาระ คนพื้นที่เล่าว่าเมื่อศิษย์หนุ่ม ๆ
ทราบว่าหลวงพ่อจะลงตะโพนคืนไหน เพลของวันนั้นศิษย์หนุ่ม ๆ ก็จะนำสำรับอาหารมาถวายท่านอย่างมากมาย
เพราะหวังว่าในวันรุ่งจะมารับสำรับอาหารคืนและหากมีวาสนาก็จะได้ตะโพนของหลวงพ่อในสำรับของตน
พอย่ำรุ่งชาวบ้านก็จะได้ยินเสียงตะโพนดังกังวานไปแต่ไกล (เสียงนั้นจะไม่เหมือนเสียงกลอง) นั่นเป็นสัญญาณว่า "มารับได้แล้ว"
บรรดาศิษย์ก็จะรีบมารับสำรับของตนเองคืน และเมื่อแต่ละคนได้รับสำรับกลับไปแล้วก็จะรีบนำไปล้างและหาดูว่ามีตะโพนในชุดสำรับหรือไม่
ถ้ามีก็ถือว่าเป็นวาสนา แล้วรีบนำไปอาราธานาติดตัวกันเลย พุทธคุณของตะโพนนั้นเป็นที่ประจักษ์เรื่องมหาลาภ
เมตตาและมหานิยมอย่างเอกอุ เลื่องลือมาแต่โบราณแต่ด้านอื่น ๆ ก็ครบเครื่องชายชาตรี ว่ากันว่าตะโพนของท่านนั้น
เป็นเครื่องรางที่สร้างได้ยาก และจะหาคนสร้างได้ขลังแบบท่านเป็นไม่มีแล้ว ที่สำคัญไม่มีของอะไรแก้ได้
เหตุเพราะท่านพิถีพิถันตั้งแต่การจัดสร้างและปลุกเสก ดังนั้นการมอบให้ศิษย์แต่ละคนนั้นท่านจะพิจารณา
และมอบให้แก่ศิษย์ที่ยังไม่มีครอบครัวและเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงเท่านั้นและที่น่าแปลกก็คือตะโพนแท้ ๆ
ของท่านมักจะไม่มีการเปลี่ยนมือกันอย่างง่าย ๆ เรียกได้ว่า "ใช้กันแบบตกทอด" จากปู่ถึงพ่อจากพ่อถึงลูกกันเลย
โดยเฉพาะคนพื้นที่นั้นจะหวงแหนกันมากเป็นพิเศษครับ เพราะของแท้มีน้อยมากแต่ความศรัทธาและความต้องการตะโพนแท้ ๆ
ของท่านมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ สำหรับผู้ที่มีวาสนาได้ครอบครองตะโพนของท่าน
ให้ว่าพระคาถานี้ทุกวันจะประสิทธิเมครับ นะโม (3 จบ) พุทธัง รัตตะนัง ธัมมัง รัตตะนัง สังฆัง รัตตะนัง
|