"เครื่องรางของขลังขมังเวท" เป็นผลงานหนังสือเล่มที่ ๓ ของนายพยัพ คำพันธุ์
นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย หรือที่รู้จักกันในนาม "ป๋าพยัพ"
ได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ในด้านวิชาการและให้ความรู้สู่สายตาประชาชน เพื่อให้เป็นวิชาการและเป็นตำนาน
เพื่อความถูกต้องตามความเป็นจริงมิให้สูญหายไปจากความทรงจำ ซึ่งก่อนหน้านี้ "ป๋าพยัพ"
ได้จัดทำหนังสือมาแล้ว ๒ เล่ม คือ "หนังสือตามรอยตำนานภาพถ่าย ๑๐๘ พระคณาจารย์"
และ "หนังสือตามรอยพุทธานุภาพ"
"ป๋าพยัพ" บอกว่า ในตามตำนานของพระคณาจารย์ ตั้งแต่ครั้งสมัยในอดีตท่านจะจัดทำ
เครื่องรางของขลังกันมาก่อน ท่านจะนำวัตถุที่เป็นมงคลมาแกะและลงอักขระเลขยันต์มีทั้ง
เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี งาช้างดำ งากำจัด งากำจาย กะลาตาเดียว เขาควายเผือก เขากวางคุด
เบี้ยจั่น พร้อมทั้งสัตตะโลหะต่างๆ และแผ่นทองคำ แผ่นนาก แผ่นเงิน แผ่นทองแดง แผ่นฝาบาตร
แผ่นตะกั่วดีบุก แผ่นหน้าผากเสือ แผ่นหนังควาย แผ่นหนังกระเบน แผ่นผ้า พร้อมทั้งกระดาษสา
สีผึ้ง น้ำมันหอม สายสิญจน์ ตะปูโลงผี ไม้กาฝากต่างๆ ที่เป็นมงคลนาม และผงพุทธคุณ
ลูกไม้มงคล และได้แกะเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น
พ่อปู่ฤาษี แม่นางกวัก รักยม กุมาร หุ่นพยนต์ อิ้นคชสิงห์ ราชสีห์ สิงห์ เสือ หมูโทน
หนุมาน ลิง องคต ควายธนู พญาเต่าเรือน แพะ ตะเข้ จิ้งจก ตุ๊กแก ลูกอม ผ้ายันต์ เสื้อยันต์
มีดหมอ ไม้ครู ตะกรุด พระขรรค์ ปลัดขิก ประคำ หมากทุย พิสมรใบลาน แหวนพิรอด
กระดูกแร้ง กระดูกห่าน สาลิกา ปลาตะเพียน และของทนสิทธิ์ต่างๆ
ตามแต่ที่ท่านจะจินตนาการและสำเร็จในญาณสิ่งนั้นๆ
กรรมวิธีการที่จะสร้างเครื่องรางของขลังของแต่ละพระคณาจารย์นั้นๆ
ของแต่ละองค์ไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านต้องดูฤกษ์ผานาทีที่ไม่ใช่วันดับวันสูญ ท่านต้องดูวันแข็ง
วันครู วันมงคลฤกษ์ วันเสาร์ห้า ส่วนมากท่านจะลงวันไตรมาสสามเดือนครบหนึ่งไตรมาส (เข้าพรรษา)
พอวันออกพรรษาก็ให้ลูกศิษย์มารับ แต่ข้อสำคัญที่สุดคือวันเข้าพรรษาจะไม่ปลุกเสก
วันออกพรรษาก็จะไม่ปลุกเสก วันกระทิงวันก็จะไม่ปลุกเสก ถือว่าเป็นวันดับ
และวันสูญไม่บังควรปลุกเสกพระเครื่อง พร้อมทั้งเครื่องรางของขลังต่างๆ เป็นต้น
การสร้างเครื่องรางของขลังนอกจากพระคณาจารย์ที่ชาญพระเวททั่วสารทิศได้สร้างเอาไว้
ก็ยังมีฆราวาสที่มีวิชาอาคมคงแก่เรียนเพียรปฏิบัติเวทมนตร์ อาคมขลัง
พร้อมอักขระเลขยันต์และสักให้ศิษยานุศิษย์ในยุคนั้นสมัยนั้นและทำเครื่องรางเอาไว้
ได้สืบทอดมาตราบจนทุกวันนี้ จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสในอำนาจและบารมี เวทมนตร์คาถา
และอักขระเลขยันต์ของแต่ละพระคณาจารย์ทุกองค์ท่านจะลงแตกต่างกันไป มีทั้งลงขอมไทย
ขอมล้านนา ขอมลาว ขอมมอญ องค์ไหนสำเร็จวิชาในด้านไหนก็จะลงในด้านนั้นๆ
"พุทธคุณแห่งเครื่องรางของขลังมีทั้งเมตตา แคล้วคลาด อยู่ยง มหาอำนาจ
ปราบคุณไสย ป้องคุณไสย เสริมดวง เสริมบารมี มหาอุต แก้สิ่งที่เป็นอัปมงคล เสริมด้านค้าขาย
มหาเสน่ห์ ซึ่งล้วนแต่เป็นมงคลยิ่งด้วยกันทั้งนั้น การที่มีเครื่องรางดีๆ
ติดตัวสักชิ้นนั้นถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต เพราะเครื่องรางกับพระเครื่องนั้นแยกกันไม่ออก
ของสิ่งนี้เขาได้ใช้คู่กันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลและสืบทอดมาตราบจนเท่าทุกวันนี้" "ป๋าพยัพ" กล่าว
พร้อมกันนี้ "ป๋าพยัพ" ยังแนะนำด้วยว่า ข้อควรพึงระวัง เครื่องรางนั้นต้องดูให้ดีๆ
เพราะมีของเก๊ทำเทียมและทำเลียนแบบอยู่มากมาย ต้องใช้ดุลพินิจ อย่าใจร้อน ค่อยศึกษา
และถามผู้รู้ การดูเครื่องรางท่านต้องดูความเก่า ความเป็นธรรมชาติ ดูรักให้เป็นดูเหล็กจาร
ดูลายมือ ดูงานแกะ ดูศิลป์ ดูเชือก ดูการถัก ดูโลหะ ดูอายุขัย ดูเอกลักษณ์ของพระคณาจารย์นั้นๆ
แต่ก็มีเครื่องรางบางอย่างไม่ว่าจะเป็นตะกรุด ลูกอม ลูกสะกด ไม้ครู ผ้ายันต์
ที่เก่าแก่อายุขัยนับร้อยปีไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะบางครั้งองค์พระคณาจารย์นั้นๆ
ได้สร้างให้ศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิดในจำนวนไม่มาก
บางครั้งตะกรุด ลูกอม ชานหมาก ของพระคณาจารย์ไม่สามารถพิสูจน์ได้
ว่าเป็นของพระคณาจารย์องค์หนึ่งองค์ใด เพราะสิ่งนี้ไม่อาจรู้ได้ครบถ้วนกระบวนความ
เพราะเครื่องรางบางอย่าง แท้ไม่รู้ที่ ดีไม่รู้วัด จัดได้ว่ายังมีอยู่อีกจำนวนมาก
เครื่องรางของขลังนั้นดูยากเสียยิ่งกว่าพระเครื่องมากกว่าหลายสิบเท่า อย่าใจเร็วด่วนได้
ท่านอย่าฟังด้วยหู จงดูด้วยตาและท่านจะไม่ผิดหวัง
ฝากไว้เป็นตำนานอมตะแห่งวงการพระ
"ป๋าพยัพ" บอกว่า การที่จะจัดทำหนังสือสักเล่มหนึ่งนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย
เราต้องค้นคว้าและต้องรู้จริง การที่จะนำประวัติและพระเครื่องตลอดจนเครื่องรางของขลัง
นำมาลงเพื่อเป็นวิชาการ จะต้องถูกต้องและมีมูลเหตุอย่างแท้จริง จึงจะนำมาลงออกสู่สายตา
ของบุคคลทั่วไปที่จะให้ยอมรับนั้นมันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเครื่องรางของขลังนั้นผมยอมรับเลย
ว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทายและลี้ลับ ผมเองต้องขอขอบคุณเพื่อนพ้องน้องพี่ทุกๆ ภาคและทุกๆ คน
ที่นำเครื่องรางที่ถูกต้องของแต่ละสำนักมาลงในหนังสือเล่มนี้ให้เป็นวิชาการในด้านความรู้
และประกอบกับการศึกษาค้นคว้าสืบต่อไป
คาถาอักขระพร้อมทั้งเลขยันต์และเครื่องรางของขลังเป็นความเชื่อของคนไทยสืบทอด
มานานนับร้อยปี แม้แต่อักขระเลขยันต์ที่พระคณาจารย์และฆราวาสได้สักผนึกบนผิวหนัง
ให้ยั้งอยู่ยงคงศาสตรา สืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย เป็นความเชื่อของคนไทยตั้งแต่บรรพบุรุษ
จนเป็นที่มาแห่งตำนานในการลงเครื่องรางของขลังขมังเวทซึ่งมีฤทธิ์เดชและพลานุภาพ
ให้หยุดยั้งอยู่ยงคงศาสตรามหาเวทมาจนถึงปัจจุบันนี้
"ต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ ที่ได้นำเครื่องรางมาลงในหนังสือ
ตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวท เพื่อให้เป็นความรู้และเป็นวิชาการ
มิให้สูญหายไปจากตำนานแห่งวัตถุมงคลที่ขมังเวทได้สืบทอดมานานนับหลายร้อยปี
ให้คงอยู่คู่กับคนไทยที่มีหัวใจยึดมั่นในอาคมเข้มขลังและอักขระเลขยันต์มิใช่เดรัชฉานวิชามาอวดอ้าง
เพราะของขลังนั้นมีจริงไม่เชื่ออย่าลบหลู่" "ป๋าพยัพ" กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจ "เครื่องรางของขลังขมังเวท" เพื่อใช้เป็นตำราศึกษา
สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.๐๖-๒๕๖๒-๐๔๙๙, ๐๘-๑๑๔๒-๓๘๘๔ และ ๐๘-๙๘๓๗-๖๖๖๖
เบี้ยแก้ตำรับหลวงปู่รอด วัดนายโรง
"เบี้ยแก้" เป็นเครื่องรางของขลังที่นับเป็นภูมิปัญญาของพระเกจิอาจารย์ไทยโดยเฉพาะ
สร้างจากหอยเบี้ยจั่น ที่มีฟันครบ ๓๒ ซึ่งแต่ละขั้นตอนของการจัดสร้างต้อง
บริกรรมคาถาตลอดเวลาถึงจะมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ พุทธคุณเบี้ยแก้ป้องกันคุณไสย
แก้เสนียดจัญไร รวมทั้งมีเมตตามหานิยมอีกด้วย
ด้วยพุทธคุณอันลือลั่น คนโบราณกาลที่เคยกล่าวไว้เป็นคำกลอนว่า
"หมากดีที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูคู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบินวัดหนองโพธิ์
พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง ราหูคู่วัดศีรษะทอง แหวนอักขระต้องวัดหนองบัว
ลูกแร่ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน ทุกสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา
ติดกายยามญาตตรา ภัยมิกล้ามาแพ้วพาน"
เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง นับเป็นหนึ่งในสุดยอดของเครื่องรางที่หาได้ยากมาก
ถือเป็นปฐมบทของเบี้ยแก้ หรือ "ราชาแห่งเบี้ยแก้" และถูกจัดให้เข้าอันดับเบญจภาคีของเครื่องราง
โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ
๑.ใช้เบี้ยที่มีฟันครบ ๓๒ ซี่
๒.ใช้ปรอทที่มีน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งบาทขึ้นไปมาลงบรรจุในเบี้ย
๓.ใช้รังชันโรงที่อยู่ใต้ดิน มาอุดที่ปากเบี้ยเมื่อทำการบรรจุปรอทเสร็จสิ้นแล้ว
และ ๔.ใช้ตะกั่วตีเป็นแผ่นเรียบ แล้วมาจารลงอักขระ หรือยันต์ นำมาหุ้มที่ตัวเบี้ยอีกชั้น
โดยตีรีดแผ่นตะกั่วจนเข้ารูปกับตัวเบี้ย แต่ในบางตัวที่พบกันอาจใช้ผ้าหุ้มและเขียนยันต์กำกับไว้ก็มี