ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: พ่อท่านเส้ง วัดแหลมทราย วัตถุมงคลพ่อท่านเส้ง วัดแหลมทราย 

ประวัติเกจิอาจารย์ดัง: พ่อท่านเส้ง วัดแหลมทราย
 
วัตถุมงคลพ่อท่านเส้ง วัดแหลมทราย 
06-11-2009 Views: 8796
 
บทนำ
 
วัตถุมงคลพ่อท่านเส้ง วัดแหลมทราย
 
      ของขวัญแด่เพื่อน ๆ พี่น้องฯ ทุกคน แม้จะล่วงเลยวันปีใหม่มาหลายวันแล้ว
แต่ก็อยากจะขอมอบบทความนี้เป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่พี่น้อง เพื่อน ๆ ทุกคนครับ
ของขวัญชิ้นนี้ใช้เวลาในการเตรียมการ 45 วันพอดีครับ สำหรับการรวบรวมข้อมูลการจัดสร้าง
และภาพวัตถุมงคลของพ่อท่านเส้ง ในครั้งนี้ (ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม – 9 มีนาคม พ.ศ. 2551)
 
      ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่พี่น้อง เพื่อน ๆ ทุกคน
(ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นข้อยุติในการเช่าหาวัตถุมงคลใด ๆ ของพ่อท่านครับ
เพราะข้อมูลและภาพบางส่วนอาจจะผิดเพี้ยน ไม่ถูกต้อง หรืออาจจะมีวัตถุมงคลในรูปแบบอื่น ๆ
หรือพิมพ์อื่น ๆ ที่ผมไม่สามารถรวบรวมหาข้อมูลได้ แต่ผมก็พยายามอย่างที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วครับ)
 
      ในที่นี้ผมจะขอกล่าวเฉพาะการจัดสร้างวัตถุมงคลของพ่อท่านฯ เท่านั้น
สำหรับประวัติของพ่อท่านฯ พี่อ้น ระโนด ได้ลงไว้แล้ว ในกระทู้ที่ 00364
วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551 ของเวป “ชมรมคนรักษ์พระเครื่องเมืองสงขลา”
(ถ้าท่านใดอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของพ่อท่านฯ เชิญชมที่กระทู้ดังกล่าวได้เลยครับ)
แต่ในที่นี้ผมต้องขออนุญาตลงข้อมูลเกี่ยวกับลำดับสมณศักดิ์ ที่พ่อท่านฯ ได้รับ
สักนิดน๊ะครับ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านวัตถุมงคล
 
     ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุมงคลครั้งนี้ ส่วนใหญ่นำมาจากหนังสือท่านแหลมทราย
ซึ่งแจกเป็นที่ระลึกในพิธีบรรจุศพ พ่อท่านฯ เมื่อวันที่ 28-31 สิงหาคม 2528 ซึ่งในส่วนของ
วัตถุมงคล รวบรวมข้อมูลโดย ผศ.พุม ขำเกลี้ยง ศูนย์ส่งเสริม และฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ
มหาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (*หมายเหตุ* ตำแหน่ง และสถานที่ทำงานในขณะนั้น)
ส่วนภาพวัตถุมงคล ก็ได้มาจากพี่ ๆ เพื่อน ชาวเวป , ผู้ที่ผมรู้จัก และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือครับ
 
     ซึ่งในหนังสือฯ ท่าน ผศ.พุม ใช้คำแทนองค์พ่อท่านเส้ง ว่า “ท่านเจ้าคุณฯ”
เนื่องด้วยสมณศักดิ์สุดท้ายที่ พ่อท่านฯ ได้รับ คือ เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชรัตนโมลี
แต่ในที่นี้ ผมขอใช้คำว่า พ่อท่านฯ แทน คำว่า ท่านเจ้าคุณฯหรือพ่อท่านเส้ง ครับ
 
    (ส่วนข้อมูลและภาพวัตถุมงคลที่ได้มา ก็ต้องขออนุญาตปรับแต่ง และเรียบเรียงใหม่)
วัตถุประสงค์ในการจัดทำกระทู้นี้ขึ้นมา ก็เพื่อเผยแพร่วัตถุมงคลและชื่อเสียงของ พ่อท่านฯ
ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผมในฐานะของผู้จัดรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้
ก็ต้องขออภัย ทุกท่านด้วยครับ (หากข้อมูลไหนผิดพลาดประการใด พี่ ๆ เพื่อน ๆ มีข้อมูล
ข้อแนะนำ ติชม เชิญได้เต็มที่ครับ อันไหนเป็นความคิดส่วนตัวของผม
ผมจะใส่เครื่องหมาย “(*J*)” ไว้น๊ะครับ)
 
     พระราชรัตนโมลี
 
 [ พ่อท่านเส้ง ติสสรเถร ]
 
  วัดแหลมทราย ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา
 
 อดีตเจ้าอาวาส วัดแหลมทราย และ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
 
 ชาตะ 13 มกราคม พ.ศ. 2429
 
มรณะ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2516
 
ศิริอายุรวม 86 ปี 4 เดือน พรรษา 63 พรรษา
 
ภาพจากหนังสือ ท่านแหลมทราย
 
    ประวัติพ่อท่านเส้ง หรือ พระราชรัตนโมลี แห่งวัดแหลมทราย
 
   เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2429 ณ บ้านท่าหิน ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา
โยมบิดาของท่านเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ชื่อ สีเซ่ง โยมมารดาเป็นคนไทย ชื่อ ดำ เมื่ออายุได้ 11 ปี
บิดามารดาได้พาไปฝากให้เรียนหนังสือกับ พระอาจารย์นวล วัดเสื้อเมือง
ได้เรียนอักขระสมัยทั้งหนังสือไทยและขอมจนอ่านออกเขียนได้ มีความชำนาญ เมื่อท่านอายุได้ 16 ปี
ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดท่าหิน ต. ท่าหิน อ.สทิงพระ จ. สงขลา เมื่อวันศุกร์ขึ้น 1 ค่ำ
เดือน 8 ตรงกับ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 โดยมีพระอธิการยิ้ม เป็นพระอุปัชณาย์
ท่านบรรพชาเป็นสามเณรได้ 1 พรรษา ก็สึกออกมาช่วยทางบ้านประกอบอาชีพ
 
    ต่อมาเมื่ออายุครบบวช จึงเข้ารับการอุปสมบท ณ วัดเสื้อเมือง ต.เสื้อเมือง อ.สทิงพระ
จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2451 โดยมี พระอธิการเอียด แห่งวัดเสื้อเมืองเป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการทับ วัดพังบัว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเพียร วัดบางเขียด เป็นพระอนุสาวนาจารย์
 
    อุปสมบทแล้วก็ไปจำพรรษา ณ วัดมะขามคลาน เพื่อเรียนพระปริยัติธรรม
และวิปัสสนากรรมฐานกับ พระอาจารย์กิมเส้ง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส
จำพรรษาที่วัดมะขามคลานได้ 3 พรรษา จากนั้นก็ย้ายไปจำพรรษา ณ วัดแหลมทราย
อ. เมือง จ. สงขลา กับพระอาจารย์แก้ว แล้วยังไปเรียนบาลีไวยกรณ์ และมูลกัจจายน์กับพระครูอั้น
วัดไทรงาม กับยังได้ไปเรียนวิทยาคมพระครูพรหมเวชวุฒิคุณ (พรหมทอง) วัดโคก
ต่อมาก็ไปศึกษาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์แป้นและพระอาจารย์ฤทธิ์ ที่วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ
หลังจากนั้นก็กลับไป จำพรรษาที่วัดแหลมทรายเหมือนเดิม ประจวบกับว่าเจ้าอาวาส
วัดแหลมทรายได้มรณภาพลง ชาวบ้านและกรรมการวัดเห็นว่าพ่อท่านเส้ง
มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นท่านเจ้าอาวาส
จึงได้ทำเรื่องเสนอไปยังเจ้าคณะจังหวัดสงขลา และได้รับความเห็นชอบ
จากเจ้าคณะจังหวัดให้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมทรายสืบมา
 
     พ่อท่านเส้งครองวัดแหลมทรายอยู่นับเป็นเวลานาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2456
จนกระทั่งมรณภาพไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 รวมอายุได้ 87 ปี
พ่อท่านเส้งเป็นพระสงฆ์ที่มีเมตตาธรรมสูงมาก ให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก
และมีความเดือดร้อนโดยถ้วนหน้าไม่เลือกชั้นวรรณะ ใครไปขอความช่วยเหลืออะไร
หากท่านมีหรือช่วยเหลือได้ ก็จะช่วยเสมอทุกคน ไม่เคยแสดงถึงความเหนื่อย
และความเบื่อหน่ายหรือรำคาญให้ผู้ที่ไปหาได้พบเห็น จะมีแต่รอยยิ้มด้วยความเมตตาปราณี
ตลอดเวลาแม้จะเป็นถึงพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด แต่มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย
สมกับเพศสมณะนอกจากนี้ท่านยังทรงภูมิทางวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมเป็นเลิศท่านหนึ่ง
ของภาคใต้ ได้รับนิมนต์ร่วมปลุกเสกวัตถุมงคลตามวัดต่าง ๆ ของภาคใต้หลายต่อหลายครั้งด้วยกัน
    พ่อท่านฯ อุปสมบท เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2451 ณ วัดท่าหิน ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา
 
    สมณศักดิ์
 
    พระครูเทพาธิวาสสังฆเนต ชั้นโท วันที่ 8 พฤศจิกายน 2475 พระครูคณานุยุตต์วิจิตร
ชั้นเอก วันที่ 1 มีนาคม 2482 เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระรัตนโมลี วันที่ 5 ธันวาคม 2493
ชั้นราช ที่ พระราชรัตนโมลี วันที่ 5 ธันวาคม 2503
 
    พ่อท่านฯ เป็นพระที่มีความรู้ความสามารถในหลาย ๆ ด้านเป็นทั้งพระนักพัฒนา
เป็นพระที่มีความรู้ในด้านการปฏิบัติธรรม รวมถึงความรู้ในพิธีกรรมและการจัดสร้างวัตถุมงคล
วัตถุมงคลของท่าน มีประสบการณ์เป็นที่กล่าวขวัญมากมาย โดยเฉพาะพระโสฬสธาตุ
หรือพระปิดตา รุ่น 1 ของท่าน ซึ่งจัดสร้างในช่วงสงครามท่านได้แจกจ่ายแก่ทหารหาญ
ผู้ไปสู้รบกับข้าศึกศัตรู ล้วนแล้วแต่แคล้วคลาดจาก ภยันอันตราย บ้างถูกยิงก็ไม่เข้า
จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว นอกจากนี้ช่วงที่มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ในตำบลบ่อยาง
จังหวัดสงขลา บริเวณวัดแหลมทรายก็หาได้มีอันตรายจากระเบิดไม่