พ่อท่านผ่อง อิทธิปุญโญ” แห่งสำนักสงฆ์คลองเปล ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

“สมาธินี้เป็นของจริง สิ่งที่เราเห็นในระหว่างจิตมีสมาธิ คือ สงบ สว่าง นิมิต

หรือการเห็นอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาก็ดี สิ่งนั้นเป็นเพียงการรับรู้ของจิต

เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วให้เราพิจารณาอย่างมีสติไว้ให้ดี”

น้ำเสียงสุภาพภายใต้ใบหน้าและแววตาที่จริงจังของพระภิกษุสูงวัย

 จับใจความได้ว่าท่านกำลังอธิบายถึงลักษณะของสมาธิและการปรับสภาวะของจิตใจ 

การรับฟังและการแก้ไขปัญหาที่คาใจของเด็กๆ ช่างถามที่นั่งล้อมวงอยู่หน้ากุฏิ 

ทำให้พวกเรามั่นใจว่า  “ตาหลวงผ่อง” ของเด็กๆ หรือ “พ่อท่านผ่อง อิทธิปุญโญ”

แห่งสำนักสงฆ์คลองเปล ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

ยังมีดีอีกหลายอย่างมากกว่าที่ใครๆ คิด

ว่ากันว่าสำนักสงฆ์นาเปลแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์

เพราะที่ผ่านมาเคยมีพระสงฆ์เข้ามาพักได้ไม่ทันข้ามคืนก็ต้องรีบย้ายตัวเอง

ออกไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ในบางคืนก็เคยมีชาวบ้านเห็นดวงไฟกลมโต

ลอยขึ้นจากพื้นดินภายในสำนักสงฆ์

แต่ถ้าถามว่าเพราะเหตุใดพ่อท่านผ่องถึงไม่ได้มีความเกรงกลัวต่ออาถรรพ์ดังกล่าว

และสามารถอยู่จำพรรษาได้อย่างสงบมาตราบเท่าทุกวันนี้

ตำตอบนี้ เจ้าเพชร-เพื่อนรุ่นน้อง ให้ข้อมูลว่า

๑.เกิดจากคุณธรรมของท่าน และ

๒.เกิดจากความผูกพันทางสายเลือดตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

พูดง่ายๆ ก็คือว่า “หลวงพ่อทวด” กับ “พ่อท่านผ่อง” ท่านเป็นเครือญาติเดียวกัน

เขาย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับหรือเรื่องที่ต้องปกปิดแต่อย่างใด

เพราะชาวบ้านแถวนี้เขาก็รู้กันทั่วอยู่แล้ว

จริงอยู่ถึงในวันนี้ชื่อของพ่อท่านผ่องอาจจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูของคนรุ่นใหม่

หรือมีชื่อเสียงกระจายออกสู่ภายนอกเหมือนพระเกจิอาจารย์องค์อื่น

 แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้จักและจดจำท่านได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เคารพศรัทธาในบารมีของ “หลวงพ่อทวด”

เจ้าของตำนานศักดิ์สิทธิ์บนพื้นที่แห่งนี้ครับ

พ่อท่านผ่อง อิทธิปุญโญ ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมรอยต่อ

แห่งความผูกพันระหว่างชาวบ้านกับหลวงพ่อทวดครับ

ความชัดเจนของเหตุการณ์ชวนมหัศจรรย์ใจ และความถี่ของประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ทำให้ท่านมักจะถูกนิมนต์จากชาวบ้านให้ช่วยเป็นสื่อในเวลาที่พวกเขา

ต้องการพึ่งบารมีจากหลวงพ่อทวดแต่ก็มีบางครั้งครับที่ตัวท่านเองก็ได้รับบัญชา

ในนิมิตเป็นคำสอนหรือคาถาจากหลวงพ่อทวดเพื่อนำมาใช้เจริญศรัทธาแก่บรรดาสาธุชนทั่วไป

ประเด็นนี้น่าสนใจครับ เพราะเรื่องอะไรก็ตามที่ออกแนวลึกลับประมาณนี้

ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่หลายๆ คนให้ความสนใจ และเท่าที่พวกเราเคยนั่งคุยกันเอง

และเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ต้องบอกว่าขนาดคนคอเดียวกัน

ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ่อยๆซึ่งเหตุผลต่างๆ ที่ต่างคนต่างยกมาอ้างนั้น

โดยส่วนตัวแล้วผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุผลใดผิดหรือถูก

แต่เอาที่แน่ๆ และถูกใจผู้คนทั่วไปก่อนดีกว่าก็คือวัตถุมงคลในรูปหลวงพ่อทวด

ที่พ่อท่านผ่องได้สร้างและแจกออกไปนั้น ถือเป็นหลวงพ่อทวดเนื้อว่านยุคใหม่

ที่มีประสบการณ์มากเล่าขานกันไม่หวาดไม่ไหวจะว่าไปแล้วก็จะไม่ดีได้อย่างไรครับ?  

เพราะพ่อท่านผ่องจะบอกกับทุกคนที่ได้รับพระไปว่า ท่านเป็นเพียงแต่ผู้รวบรวมมวลสาร

ตามที่สั่งส่วนการเสกเป็นหน้าที่ของหลวงพ่อทวด

“ท่านเป็นเพียงแต่ผู้รวบรวมมวลสารตามที่สั่ง ?”

สมองซีกซ้ายกำลังคิดในขณะที่สมองซีกขวากำลังจินตนาการว่าใครหนอเป็นคนสั่งหามวลสาร?

จากสำนักสงฆ์ต้นเลียบ ซึ่งเป็นสถานที่ฝังรกของพลวงพ่อทวด

พวกเราเดินทางบนถนนสายเล็กๆ ที่สองฟากถนนคือแปลงนาที่มีข้าวรอการเก็บเกี่ยว 

บนไหล่ทางของถนนสายคดเคี้ยวเส้นนี้มีต้นตาลสูงปลูกเรียง

เหมือนดังจะเป็นแนวกันชนก่อนจะถึงที่หมายผมเห็นต้นมะเม่าซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดสูง

พอสมควรขึ้นอยู่เป็นพุ่มๆ  สีสันของดอกและผลที่ห้อยระย้าลงตัดกับสีเขียวของใบ

ช่วยขยับจังหวะชีวิตของพวกเราให้คึกคักตามแสงแดดที่ค่อนข้างแรง

ในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจแบบนี้มีบันทึกเป็นตำนานไว้ครับว่า

สมัยก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นท้องนาที่มีต้นตาลและต้นมะเม่าขึ้นอยู่เต็มไปหมด

ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่นาคือเศรษฐีปานมีอยู่วันหนึ่งนายหูและนางจันทร์สองสามีภรรยา

ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ยของเศรษฐีปาน  ได้ออกไปเกี่ยวข้าวในที่นาดังกล่าว

เพื่อความสะดวกในระหว่างการเกี่ยวข้าว ทั้งคู่จึงได้นำผ้ามาผูกขึ้นเป็นเปลนอน

ก่อนจะนำปลายผ้าทั้งสองด้านผูกไว้กับต้นมะเม่าสองต้นเพื่อให้ ”เด็กชายปู”

ทารกน้อยวัยแบเบาะได้นอนพักผ่อน

หลังจากเกี่ยวข้าวไปได้ระยะหนึ่ง นางจันทร์จึงได้เดินย้อนกลับมาเพื่อที่จะให้นมลูก

ภาพของงูจงอางขนาดใหญ่หรือที่คนใต้เรียกกันว่า “งูบองหลา”

กำลังขดพันรัดอยู่รอบๆ เปล ทำให้นางจันทร์ตกใจทำอะไรไม่ถูก

จึงได้ร้องเรียกให้นายหูมาช่วยกันไล่งู แต่ไม่ว่าจะไล่ด้วยวิธีการอย่างไรก็ไม่สามารถไล่ได้

ทั้งคู่จึงตั้งจิตอธิษฐานขออย่าให้งูจงอางตัวนั้นทำร้ายลูกน้อยที่นอนอยู่ในเปล

สิ้นคำอธิษฐานไม่นานนักงูจงอางตัวนั้นก็ค่อยๆ คลายวงรัดออกก่อนจะเลื้อยหายเข้าไปในป่า

โดยก่อนไปงูจงอางตัวนั้นได้คายเมือกแก้วขนาดใหญ่ไว้บนอกของเด็กชายปู

ซึ่งในกาลต่อมาก็อย่างที่หลายๆ ท่านทราบนั่นแหละครับ ว่าเด็กชายปูที่นอนหลับอยู่ในเปล

ก็คือ “หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด” และเมือกใสๆ

ที่แข็งตัวเป็นลูกแก้วขนาดใหญ่นั้น ก็คือ “ลูกแก้ว” ของวิเศษคู่บารมีครับ

จะว่าไปแล้วถึงแม้กาลเวลาจะเวียนเปลี่ยนแต่เรื่องราวยังคงยอกย้อนอยู่ที่เดิม

เพราะพื้นที่ของท้องนาบริเวณจุดที่ นายหูและนางจันทร์ได้ผูกเปลในวันนั้นก็คือที่ตั้งของ

“สำนักสงฆ์นาเปล” ในวันนี้