ประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
หลวงพ่อคูณ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ
1. หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
2. นางคำมั่น แจ้งแสงใส
3. นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์
มารดาของหลวงพ่อคูณ เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี 3 นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่า
“เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงาม ความดีมาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป”
และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วอันใสสะอาดว่างให้แก่นางด้วย
“ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง”
ด้านการศึกษา
เนื่องด้วยบุรพกรรมและสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณ ได้เสียชีวิตลงในขณะที่ลูกทั้ง 3 คน ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับ น้อง ๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ 6-7 ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือ กับพระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หล ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม นอกจากนี้พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชา คาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย นับว่าหลวงพ่อคูณเรียนรู้วิชาทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่เยาว์วัย
“ค่ำคืนอันมืดมิดมิอาจบดบังแสงอันสกาวใส ของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาได้ไม่”
กลับสู่มาตุภูมิ
หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากประเทศกัมพูชาสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทาง พระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2496 นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่อุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย
หลักคำสอน
“คนเรา เมื่อมีเมตตาให้กับผู้อื่น ผู้อื่นเขาก็จะ ให้ความเมตตาตอบสนองต่อเรา ถ้าเราโกรธเขา เขาก็จะโกรธเราตอบเช่นกัน ความเมตตานี่แหละ คืออาวุธ ที่จะปกป้องตัวเราเอง ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง เป็นอาวุธที่ใคร ๆ จะนำเอาไปใช้ก็ได้ จัดว่าเป็นของดีนักแล”
ปราชญ์แห่งที่ราบสูง
บุคคลทั่วไปหากมิได้สัมผัสตัวตนที่แท้จริงของหลวงพ่อคูณ มักจะมีความเข้าใจว่า หลวงพ่อคูณเป็นพระที่แกร่งกล้าอาคม แต่หากได้พบและได้สนทนาธรรม จะทราบทันทีว่า ท่านคือ “ปราชญ์แห่งที่ราบสูง” หลวงพ่อคูณได้สนทนาธรรมกับหลาย ๆ คน ต่างกรรมต่างวาระแสดงให้เห็นความเป็นปราชญ์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ทีท่าตรงไปตรง มาพูดจามึงกู แต่ภายในจิตวิญญาณของหลวงพ่อคูณท่านเป็นพระที่เป็นพระจริง ๆ คือมีจิตเมตตาเป็นที่ตั้ง แม้ในยามที่ วัดบ้านไร่ มีปัญหาหรือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างลูกศิษย์ หลวงพ่อคูณท่านได้ตัดสินใจเดินจากวัดบ้านไร่ไปอย่างเงียบ ๆ พร้อมทั้งปรัญชาที่ว่า
“เป็นธรรมดา เปรียบเสมือนต้นไม้หากมีลูกไม้ ย่อมจะเป็นที่จิกกินของสัตว์หรือนกแม้กระทั่งคน หากแม้นเมื่อหมดลูกหมดผล ก็หมดการแก่งแย่ง แต่อีกไม่นานต้นไม้นั้นก็จะออกลูกออกผลมาให้ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป”
ไม่เคยมีใครพบเห็นหลวงพ่อคูณ กราดเกรี้ยวหรือทุกขเวทนากับเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นภายในวัดอันเนื่องจากรายได้ที่มากมายที่ประชาชนศรัทธาในบารมีของ ท่าน สิ่งที่หลวงพ่อคูณแสดงออกมาทุกครั้งในการให้สัมภาษณ์หรือสนทนาธรรม ได้แสดงให้เห็นว่า ท่านนั้นมีจิตที่แจ่มใส หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลสเป็น “ปราชญ์แห่งที่ราบสูง” ที่พึ่งทางธรรมอย่างแท้จริง
อุปสมบท
หลวงพ่อคูณอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ปีวอก หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า “ปริสุทโธ” หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก หลวงพ่อคูณตั้งใจร่ำเรียนพระธรรมวินัย ตามรอยพระพุทธองค์ ที่ตรัสไว้ว่า… “เทว เม ภิกขเว วิชชา ภาคิยา”
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิชานั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ
1. สมถะ ความสงบระงับแห่งจิตที่ปราศจากกิเลสอาสวะทั้งปวง
2. วิปัสสนา ความเห็นแจ้งซึ่งธรรมเบื้องสูงอันสุขุมลุ่มลึก ในทางพุทธศาสนาและจงเดินตามหนทางนั้นเถิด…
พิจารณาว่า ความเกิดเป็นธรรมดา หาล่วงความเกิดนี้ได้ไม่
หลวงพ่อคูณ ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้ เป็นเพื่อนกันต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ หลวงพ่อคงสอนเน้นเรื่องการมี “สติ” ระลึกรู้พิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบและให้เกิดความรู้เท่าทัน ในอารมณ์นั้น เช่น เมื่อเกิดอารมณ์ “หลง” ท่านให้พิจารณาว่า…
“อนิจจัง ไม่เที่ยง
ทุกขัง เป็นความทุกข์
อนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา
สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นนาม
จึงมิใช่ของเราและของเขา”
ศัตรูที่แท้จริงของคนคือ โลภ โกรธ หลง ต้องแก้ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาล่วงเลยนานพอสมควร กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป แรก ๆ หลวงพ่อคูณก็ธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกออกไปไกล ๆ กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้น จากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง พิจารณาว่า ความแก่เป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความแก่ได้ไม่
การสร้างวัตถุมงคล
หลวงพ่อคูณสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชแล้ว ๗ พรรษา โดยเริ่มทำวัตถุมงคล ซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ. 2493
“ใครขอ กูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน” นับเป็นคำกล่าวของท่าน เนื่องจากวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ ได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีผู้ถามว่า หลวงพ่อแจกให้กับคนไม่ดีเป็นโจรผู้ร้ายอย่างนี้หลวงพ่อไม่บาปหรือ
“กูจะไปรู้หรือว่ามันเป็นใคร ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่า เป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม….”
“ถ้ามีใจอยู่กับ “พุทโธ” ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง… ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก”
การปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ
หัวใจพระคาถามีว่า
มะอะอุ
นะมะพะธะ
นโมพุทธายะ
พุทโธ และยานะ
แต่ในการปลุกเสก หลวงพ่อคูณจะใช้วิธี อนุโลมปฏิโลม (การต่อตามและย้อนลำดับ) เรียกว่า คาบพระคาถา
เมื่อนำหัวใจธาตุ ๔ คือ นะมะพะธะ มาใช้ หลวงพ่อคูณจะภาวนาด้วยจิตอันเป็นหนึ่ง(สมาธิ) ให้อักขระทั้ง ๔ นี้ เป็น ๑๖ อักขระ ดังนี้
นะ มะ พะ ธะ
มะ พะ ธะ นะ
พะ ธะ นะ มะ
ธะ นะ มะ พะ
ระยะเวลาการปลุกเสกของท่านใช้เวลาไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับอารมณ์จิต ท่านเคยปรารภว่าเมื่อจะปลุกเสกวัตถุใด ใจต้องเป็นสมาธิ เมื่อใจมีสมาธิ ปลุกเสกสิ่งใดก็ขลัง ระยะเวลาหนึ่งนาทีก็ดีแล้ว แต่หากใจไม่เกิดสมาธิ ปลุกเสกทั้งคืนทั้งวันก็ไม่มีผล อย่างนี้สู้ไปทำอย่างอื่นดีกว่า
ท่านั่งยอง
หลวงพ่อให้ เหตุผลว่า เป็นท่าที่สบายที่สุด อีกทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวกในการทำงาน
การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ
หลวงพ่อคูณได้จัดสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง ตลอดจนโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ ทุกๆวัน แต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายแสนบาท
“หลวงพ่อเป็นคนยากจนมาโดยกำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น การนำเงินออกไปช่วยคนอื่น ก็จะมีคนบริจาคเรื่อยๆ ถ้าเก็บไว้จะทำให้ตนตาบอด ใจก็บอดอีกด้วย จึงอยากช่วยคนอื่นอยู่เรื่อยไป วันใดไม่มีคนมาขอเงิน ก็ไม่ค่อยสบายใจ”
ข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ
หลวงพ่อคูณสั่งว่า เมื่อมีพระเครื่องของหลวงพ่อคูณติดตัว ให้ภาวนา “พุทโธ” ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ละเว้นถ้อยคำด่าทอ ค่าพ่อแม่ตน และพ่อแม่บุคคลอื่น และอย่าผิดสามีหรือภรรยาผู้อื่น ให้สวดมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และหลวงพ่อคูณยังย้ำว่า
“ถ้ามีใจอยู่กับ พุทโธ ให้เป็นกลาง ๆ ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง…ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใด ๆ ในโลก”
หลวงพ่อคูณใช้บริกรรมเวลานั่งสมาธิ
เวลาหายใจเข้า ให้บริกรรมว่า ตาย
เวลาหายใจออก ให้บริกรรมว่า แน่
เป็นตายแน่… ตายแน่… ตายแน่ไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกสบาย จิตสงบ