หลวงพ่อโปร่ง วัดถ้ำพรุตะเคียน
อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า โปร่ง อยู่กลัด เกิดเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2473 ที่บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ 5 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี
ช่วงวัยเด็กเรียนประถมศึกษาที่โรงเรียน วัดรางกำหยาด ต.บางภาษี อ.บางเลน จ.นครปฐม ส่วนชั้นประถมปีที่ 4 ท่านได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนชมนิมิต ต.บางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
ครั้นอายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทตามประเพณี ในช่วงพรรษาแรก ไปเรียนกัมมัฏฐานกับหลวงปู่หลิม ที่วัดน้อย ต.บ้านโขด อ.เมือง จ.ชลบุรี
ภายหลังได้มีผู้หญิงมาชอบ ท่านเห็นว่าจะอยู่ไม่ได้ จึงลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตฆราวาส หลังจากสึกแล้วท่านก็ไปอยู่ที่หัวหิน ไปทำงานเป็นนายท้ายเรือตังเก ลากอวนอยู่ที่หัวหิน บางครั้งก็ไปลากถึงประเทศเขมร จากนั้นได้มีครอบครัว โดยได้ลูกสาวตำรวจมาเป็นคู่ชีวิต มีบุตรด้วยกัน 3 คน
ต่อมาท่านจึงได้คิดกลับมาอุปสมบทอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2519 ที่วัดนาขวาง ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2519 โดยมีพระครูสมุทรธรรมสุนทร (หลวงพ่อสุด) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์น้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพยนต์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนาขวาง 1 พรรษา จากนั้นท่านขออนุญาตหลวงพ่อสุดออกท่องธุดงค์
ครั้งหนึ่งได้ไปจำพรรษาที่วัดถ้ำเขาพลู อ.ปะทิว จ.ชุมพร ด้วยวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส ทำให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธาจึงได้ช่วยกันสร้างกุฏิไม้ให้ 1 หลัง สร้างศาลาเอาไว้ทำบุญ และฟังธรรม
จนถึงปี พ.ศ.2528 ชาวบ้านได้ขอร้องท่านให้อยู่เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน โดยร่วมกันสร้างกุฏิไม้บนยอดเขาเพิ่มขึ้น และได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ถ้ำพรุตะเคียน
ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ได้เกิดพายุเกย์ขึ้นที่ จ.ชุมพร เกิดความเสียหายไปทั่ว ทั้งต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกหักโค่นราบเป็นหน้ากลอง บ้านเรือนถูกพัดพังเสียหายจำนวนมาก
หลังจากชาวบ้านได้ช่วยกันฟื้นฟูหมู่บ้าน อีกทั้งแรงศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศที่เดินทางมา จึงได้ช่วยกันก่อสร้างพัฒนาสำนักสงฆ์ถ้ำพรุตะเคียน ทำให้มีกุฏิปูน จำนวน 30 หลัง กุฏิไม้ จำนวน 31 หลัง
นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนยังได้ร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ศาลาหอฉัน ศาลาอเนกประสงค์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ หอระฆัง และพระอุโบสถ กระทั่งปี พ.ศ.2547 ได้รับการยกฐานะเป็นวัด เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2554
หลวงพ่อโปร่งเป็นพระเถระที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้าน ด้วยท่านเป็นพระนักพัฒนาและพระนักอนุรักษ์ ในห้วงระหว่างที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส ได้พัฒนาวัดและชุมชนรอบพื้นที่ จนมีความเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้
ด้านวัตถุมงคล เนื่องจากหลวงพ่อโปร่ง เป็นพระสายกัมมัฏฐาน ไม่นิยมการสร้างวัตถุมงคล แต่ไม่อาจขัดศรัทธาญาติโยมได้
จึงสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาหลายรุ่น เป็นที่เชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ ในด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาด จึงมีผู้ศรัทธาเลื่อมใส ไปขอบูชามากมายจนชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปในหลายจังหวัด
จากความศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อโปร่ง ทำให้วัดถ้ำพรุตะเคียนแห่งนี้ กลายเป็นศูนย์รวมของพระสายวิปัสสนาและพุทธศาสนิกชนที่รักสงบ ชอบธรรมะ เดินทางมาร่วมปฏิบัติธรรมกันอย่างไม่ขาดสาย และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นสถานที่สำคัญของพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่ง ที่สามารถถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติชอบตามแนวทางพระธรรมคำสั่งสอน และเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธที่สำคัญของประเทศอีกแห่งที่สำคัญ
หลวงพ่อโปร่งถือเป็นผู้นำทางคุณธรรม ศีลธรรมของชาวบ้านอย่างแท้จริง ด้วยความที่เป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่สะสม และยึดติดในลาภ ชาวบ้านทั้งอำเภอ ต่างจังหวัด จึงให้ความเคารพศรัทธา ด้วยกุศลจิตอย่างแท้จริง
แม้ล่วงวัย 81 ปี แต่หลวงพ่อโปร่งยังคงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไปกิจนิมนต์ไกลๆ ได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย
นับเป็นพระดีอีกรูปของเมืองชุมพร
|