พ่อท่านจวน วัดยางแดง
ธรรมชาติเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ควรแก่การศึกษา ทั้งธรรมชาติภายนอก และธรรมชาติภายในตัวเอง สมดุลของธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในเป็นสิ่งที่เรียกคืนได้ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และชัดเจน...
ใครบางคนบอกผมว่า ถึงเราจะอยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์เดียวกัน แต่ให้เชื่อมั่นเถอะว่าการมองเห็นของเราจะไม่เหมือนกัน บางคนก็บอกว่าดวงอาทิตย์มีขึ้น มีตก เป็นเรื่องของธรรมชาติ อีกคนบอกว่าการขึ้นและตกนั้นไม่ได้ซ้ำรอยเดิมทุกวัน
แต่สำหรับพ่อท่านแห่งชุมชนบ้านยางแดงวัย ๘๓ ปี ท่านเคยเทียบเคียงเรื่องนี้อย่างคมคายว่า
“การขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ เป็นเรื่องของวัฏจักรชีวิตที่ต้องหมุนเวียน มีเกิด มีดับ ดังนั้นเมื่อเราพบพานเรื่องราวดีๆ หรือเหตุการณ์ร้ายๆ หากเรามองอย่างเข้าใจและไม่ประมาท มีเครื่องมือคือสติและปัญญาคอยรับการเปลี่ยนแปลง เราก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสงบและสันติสุข”
ตอนเด็กๆ พวกเราชอบอ่านหนังสือพระเครื่อง เมื่อโตพอที่จะออกไปเที่ยวนอกบ้านด้วยตนเอง ถึงเราจะไปเที่ยวเล่นแบบคนทั่วไป แต่ในทันทีที่ต้องเลือก พวกเรามักจะเลือกโดยสารรถประจำทางไปตามวัดต่างๆ ที่เคยอ่านเจอในหนังสือ
หนึ่งคือเพื่อกราบพระ
สองคือเพื่ออุดหนุนวัตถุมงคลตามอัตภาพที่มีติดตัวกันอย่างอัตคัด
มาวันนี้ครับ พวกเราเดินทางย้อนรอยเกล็ดประวัติศาสตร์ที่แสนอัศจรรย์ของดินแดนสองพันปี ที่ชื่อ “ลังกาสุกะ” ว่า กันว่าเพราะการรวมเป็นหนึ่งท่ามกลางความหลากหลายที่ไม่แตกแยกนี้เอง ที่ทำให้ดินทุกเม็ด หินทุกก้อน ต่างมีประวัติและเรื่องราวเป็นของตัวเอง
โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยซึ่งเป็นชาติที่ นับถือพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน โดยมีวัดเป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ ตลอดจนเป็นที่ร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
ดังนั้นวัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของความสงบร่มเย็น โดยส่วนมากแล้วหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านต่างก็มีวัดประจำหมู่บ้านเป็นของตนเอง โดยชาวบ้านทุกคนถือว่าวัดเป็นศูนย์กลางและเป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งหมู่ บ้านที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาครับ
ที่นี่ “วัดนิคมสถิตย์ (วัดยางแดง)” ที่ตั้ง “เมืองงามสามวัฒนธรรม” นามว่า “ปัตตานี” ครับ
พ่อท่านจวน อภิวฑฒโน หรือสมณศักดิ์ที่บ่งบอกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้ประพฤติดี ประพฤติชอบ คือ”พระครูสถิตนิคมธรรม” เจ้าอาวาสวัดนิคมสถิตย์ (วัดยางแดง-ชื่อเดิม) ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ ถือเป็นพระเกจิอาจารย์อีกองค์หนึ่งที่มีความผูกพันกับ “หลวงพ่อทวด วัดช้างให้”
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเส้นทางชีวิตในสมณเพศของพ่อท่านจวนคือ การเป็นหนึ่งในพระที่ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนาเมื่อครั้งที่ “พระครูวิสัยโสภณ” (ท่านอาจารย์ทิม ธมมธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างไห้ สร้างหลวงพ่อทวดขึ้นในปี ๒๔๙๙
ความผูกพันของพ่อท่านจวน ในฐานะพระลูกศิษย์กับพระอาจารย์ใหญ่ คือท่านอาจารย์ทิม ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจนในการปลุกเสก “พระยายเขียด” เมื่อปี ๒๕๐๙
เชื่อถือกันว่าหากต้องการวัตถุมงคลที่มีเนื้อหาสาระเฉกเช่นเดียวกับพระ หลวงพ่อทวด โดยท่านอาจารย์ทิมได้ปลุกเสกให้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่งละก็ พระยายเขียด ปี ๒๕๐๙ นี่แหละครับพกพาติดตัวได้แบบมั่นใจ
ในฐานะที่ท่านเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์ที่มีส่วนร่วมในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ของท่านอาจารย์ทิม กอปรกับความรอบรู้ในคาถาอาคมโบราณที่เป็นจิตวิญญาณ เป็นภูมิปัญญาของบรรพชนมานานนับร้อยปีอย่างชนิดทะลุปรุโปร่ง
การที่พวกเราได้มีโอกาสเข้านมัสการกราบไหว้ท่าน ณ วัดยางแดง จึงถือเป็นโอกาสที่ไม่อาจหาได้ง่ายๆ นัก โดยเฉพาะในสภาพของความไม่สงบที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ก่อนการเดินทางลงภาคใต้ครั้งนี้ พวกเราทำการบ้านอย่างหนัก โชคดีที่ได้คุณเพชร เข้ามาร่วมขบวนการในฐานะแกนนำ เขาได้เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพ่อท่านจวน ให้พวกเราได้ฟังพอสังเขปว่า
พ่อท่านจวน มีนามเดิมว่า “จวน” นามสกุล “มุสิกวรรณ์” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มกราคม ๒๔๗๒ โยมพ่อชื่อ “นายนุ่ม” โยมแม่ชื่อ “นางจันทร์” ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพทำนา
ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ณ วัดยางแดง วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๔๙๒ โดยมี พระอธิการเซี่ยง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการทิม วัดช้างให้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระสมุห์สถิต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จำพรรษา ณ วัดนิคมสถิตย์(ยางแดง)
ด้วยความสนใจในไสยศาสตร์เป็นทุนเดิม ท่านจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ “ท่านอาจารย์ทิม ธมมธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างไห้ และ“พ่อท่านเกื้อ” (ศิษย์พ่อท่านพัฒน์ นารโท วัดพัฒนาราม จังหวัดสุราษฏร์ธานี) พระเกจิอาจารย์อาวุโสของวัดยางแดง พร้อมกับศึกษาตำรับตำราโบราณที่ตกทอดกันมาของอดีตเจ้าอาวาสวัดยางแดงจนแตก ฉาน
พ่อท่านจวน เป็นพระเกจิอาจารย์ประเภท “คมในฝัก” ท่านไม่เคยโอ้อวดความสามารถของตัวเอง ถึงแม้ว่าท่านเองก็มีดีที่จะอวด ท่านดำเนินวิถีชีวิตเยี่ยงพระสงฆ์ธรรมดาๆ รูปหนึ่ง ภายใต้การปฏิบัติที่เคร่งครัด ทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในท้องถิ่น
ท่านเปรียบเสมือนดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง แสงของท่านได้เปล่งออกมาให้ผู้คนได้เห็นในช่วงที่มีเหตุเภทภัยร่วมไปถึง อันตรายที่มาเยี่ยมถึงวัด ท่านได้นำทรายบริเวณกลางลานวัดยางแดงขึ้นมาเสก ก่อนที่จะนำไปโปรยหว่านรอบๆ อาณาเขตของวัด
ทรายเสกของท่านได้สำแดงฤทธิ์ โดยการ “กำบังตา” จากผู้ก่อความไม่สงบที่เร้นความมืดเข้ามาเดินเวียนไปวนมารอบๆ วัดทั้งคืนแต่ไม่สามารถพบทางเข้าวัด จวบจนดวงอาทิตย์เริ่มฉายแสงแห่งอรุณรุ่ง
ทหารที่มาตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณด้านหน้าวัดยางแดง เห็นกิริยาที่ส่อเค้าของความผิดปกติ จึงได้ควบคุมตัวและตรวจค้น เมื่อพบว่าคนร้ายรายนี้พกทั้งแผนผังของวัดและอุปกรณ์เตรียมวางเพลิง จึงได้นำตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป
จะว่าไปแล้วในอดีต เมืองไทยของเรามีพระและฆราวาสที่เก่งๆ หลายท่านครับ เอาแค่เฉพาะเรื่องของความ สามารถ ประเภทเสกใบมะขามเป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหุ่นพยนต์เฝ้าวัด เฝ้าบ้าน เสกหัวปลีเป็นกระต่ายน้อยให้คนคอยไล่จับ ฯลฯ ก็มีเยอะแยะมากมายดังที่ปรากฏเป็นตำนานเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน
คำถามมีอยู่ว่า...ในทุกวันนี้ยังมีพระหรือฆราวาสที่มีความสามารถในด้านนี้หลงเหลืออยู่บ้างไหม ?
คำตอบนี้ค่อนข้างยากครับ แต่ผมมีความเชื่อลึกๆ ว่ายังมีอยู่ อย่างน้อยก็พ่อท่านจวนนี่แหละครับ ถึงท่านจะไม่ได้รูดใบมะขามเป็นตัวต่อ ตัวแตน แต่ทุกเม็ดทรายที่ท่านเสกก็ทำให้ผมถึงสัจธรรมในข้อที่ว่า บางทีจินตนาการ ความเชื่อและความจริง ก็ไม่เห็นมีอะไรที่ต่างกันเลย
บ้านยางแดง ตำบลนาประดู่
บรรยากาศยามนี้อาจจะดูเงียบสงบ
มีเรื่องราวอดีตของท้องถิ่นบันทึกไว้ว่า บ้านยางแดงเป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีชาวไทยมุสลิมมากกว่าชาวไทยพุทธ จริงอยู่ถึงความเชื่อ,ความศรัทธา,อุดมการณ์และศาสนา จะแตกต่างกัน แต่เพราะภายใต้ ”พระบรมโพธิสมภาร” จึงทำให้ชาวไทยทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมานานหลายร้อยปี
จนเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ การคุมคามที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ได้ลามเข้าไปถึงวัด ถึงโรงเรียน เล่นเอาพระสงฆ์องค์เจ้า ครูบาอาจารย์ ต้องเดือดร้อนกันทั่วหน้า
แน่นอนครับว่าทุกเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจ ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ถึงพวกเราจะเห็นภาพการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่ไม่ถามก็ไม่ทราบถึงความผิด ปกติ แต่โปรดเชื่อเถอะว่ามันเป็นความปกติที่ซ้อนเร้น เพราะผมถามชาวบ้านหลายคนแล้วได้ความตรงกันว่า ทุกวันนี้ทุกคนต้องอยู่อย่างระมัดระวังตัวตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามในฐานะพระสงฆ์ผู้นำจิตวิญญาณของชุมชน ทำให้พ่อท่านจวนต้องดำรงอยู่เป็น “ขวัญ” ของ คนในพื้นที่ ถึงแม้ท่านจะต้องต่อสู้กับอุปสรรคและปัญหานานัปการที่ดูเหมือนจะเดินเรียง หน้าเข้ามาหาท่านในทุกวันนี้ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ท่านต้องมีความกังวลหรือดำรงอยู่ด้วยความทุกข์เลยครับ ท่านมักถูกตั้งคำถามและต้องตอบในประเด็นนี้อยู่บ่อยๆ
“เราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ก็ต้องช่วยๆ กันไป เพราะถ้าไม่ช่วยก็เท่ากับละเลยเพิกเฉย มันจะทำลายความศรัทธา ความไว้วางใจต่อกันได้”
พ่อท่านจวนอาจจะไม่ใช่พระประเภทยิ้มง่ายในยามปกติ แต่อุปนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน อดทน ใจสู้และมีทัศนคติเชิงบวกเสมอ ทำให้ยามใดที่พวกเราเห็นท่านยิ้ม ความอบอุ่นและความเยือกเย็นที่ผสมกันอยู่บนใบหน้า ช่วยให้เราสัมผัสได้ถึงความเมตตาที่ท่านมีให้กับทุกคนที่เข้าไปนมัสการกราบ ไหว้
เอาเป็นว่าในเบื้องต้นหากอยากจะคุยกับใครสักคนเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือแม้แต่การดำเนินชีวิตท่ามกลางความหวาดระแวง พ่อท่านจวนองค์นี้แหละครับ เหมาะสมที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดแล้ว ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะในแต่ละวัน จะมีกลุ่มคนนอกพื้นที่และในพื้นที่แวะเวียนเข้ามากราบนมัสการท่านเสมอๆ
บ้างก็มาเพราะความทุกข์
บ้างก็มาเพราะความขลัง
ซึ่งท่านเองก็พร้อมที่จะคุย พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมเพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นเกิดความ สบายใจ อย่างวันนี้ที่พวกเรามา พ่อท่านจวนกำลังรับแขกกลุ่มเล็กๆ อยู่ที่บริเวณหน้ากุฏิ
ท่านยิ้มเมื่อหันมาเห็นและพยักหน้าบอกเป็นนัยว่าให้พวกเราเข้าไปนั่งคอย ในกุฏิ พวกเราก็ไม่กล้าขัดใจครับ เลยพากันขนของที่นำมาถวายขึ้นไปตั้งกองรอท่านอยู่ในกุฏิ
ภายในกุฏิถูกแบ่งกั้นออกเป็นสัดส่วน ช่วงที่ท่านใช้นั่งรับแขกถูกยกเป็นพื้นสูงครึ่ง ที่โต๊ะหมู่มีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ตั้งอยู่บนฐานสูง ด้านหน้าฐานพระมีตัวหนังสือเขียนไว้สองแถว แถวแรกคือ “พระยายเขียด” ถัดลงมาคือ “วัดนิคมสถิตย์(ยางแดง)”
ว่ากันว่าใครก็ตามที่มาวัดยางแดง สิ่งเบื้องต้นเลยคือทุกคนจะต้องทำความรู้จักกับ “พระพุทธรูปพระยายเขียด”เพราะ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระคู่บารมีและเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ หลายคนกลับมาวัดแห่งนี้อีกครั้งก็เพราะพระพุทธรูปยายเขียด
สำหรับที่มาที่ไปของพระพุทธรูปพระยายเขียดนั้น มีทั้งตำนานประวัติและตำนานเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งในส่วนประวัตินั้นพวกเราท่องมาล่วงหน้าจนขึ้นใจแล้วครับ เรื่องมีอยู่ว่า
ยายเขียดเป็นชาวบ้านท่าเรือ โคกโพธิ์ วัดหนึ่งแกได้ออกจากบ้านเพื่อไปหาปลา เครื่องมือที่แกใช้หาปลาเรียกว่า “ชะนี” (ชะนีเป็นเครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่สาน ลักษณะคล้ายบุ้งกี๋ ด้านบนจะสานแบบห่างๆ ด้านล่างจะสานแบบถี่ๆ วิธีใช้คือเอาชะนางไปวางหรือไปช้อนปลาในแม่น้ำ ลำคลอง ฯลฯ)
เรื่องนี้จบลงตรงที่ว่าในวันนั้นทั้งวัดยายเขียดจับปลาไม่ได้สักตัว แต่กับใช้ชะนีช้อนได้พระพุทธรูปองค์เล็กขึ้นมาได้หนึ่งองค์ ยายเขียดจึงได้นำพระพุทธรูปองค์นั้นมอบให้กับพระภิกษุองค์หนึ่งที่จำพรรษา อยู่ที่วัดท่าเรือ
ต่อมาพระภิกษุองค์นั้นได้ย้ายวัดไปจำพรรษาที่วัดอื่นพร้อมกับไปนำพระพุทธ รูปที่ยายเขียดถวายให้ติดตัวไปด้วย จนในที่สุดท่านได้เดินทางมาถึงบ้านยางแดง ท่านได้สร้างที่พักชั่วคราวเพื่อใช้เป็นสถานที่แปรรูปไม้เพื่อนำมาใช้สร้าง กุฏิ
จนเมื่อมีชาวบ้านเข้ามาจับจองพื้นที่สำหรับสร้างบ้านเรือน โรงไม้แปรรูปได้กลายมาเป็นที่พักสงฆ์ และพัฒนาขึ้นเป็นสำนักสงฆ์และเป็นวัดยางแดง ในปี ๒๔๑๙ การเปลี่ยนสถานะดังกล่าวส่งผลให้พระพุทธรูปพระยายเขียดตกเป็นสมบัติของวัด ยางแดงทันทีและเมื่อทางการได้แบ่งเขตการปกครองวัดยางแดงจึงได้รับการเปลี่ยน ชื่อมาเป็น “วัดนิคมสถิตย์” นับเวลาจากการพบพระพุทธรูปพระยายเขียดจนถึงวันนี้ก็เกินกว่า ๑๕๐ ปีแล้วครับ
สำหรับตำนานอภินิหารของ “พระพุทธรูปพระยายเขียด” นั้น ต้องบอกว่ามีมากมายเล่าขานกันไม่หวาดไม่ไหว อย่างที่ปรากฏตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ เช่น ชาวบ้านถูกคนร้ายยิงปืนใส่ ๓ นัด กระสุนทะลุหมวกกันน็อคถูกบริเวณศรีษะ หลังและแขนซ้าย แต่ไม่เข้าเป็นเพียงรอยช้ำ หรือ กรณีเกิดเหตุระเบิดโดยชาวบ้านที่มีพระยายเขียดติดตัวยืนห่างจากจุดระเบิด เพียง ๕ เมตร เสื้อผ้าขาดวิ่นแต่ไม่ได้รับอันตราย ส่วนบุคคลอื่นที่อยู่ในรัศมีได้รับบาดเจ็บ ๓ เสียชีวิต ๑
จริงอยู่เรื่องอภินิหารเหล่านี้ฟังดูแล้วค่อนข้างตื่นตาสำหรับพวกเรา แต่ถ้าเป็นในพื้นที่แล้วค่อนข้างธรรมดาครับ เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปพระยายเขียดนั้นมีมากกว่าที่พวกเราคิด ครับ อย่างเช่นเรื่องของการบนบานศาลกล่าวหรือการกล่าวคำสาบาน
“สมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่เจริญ เวลามีเรื่องหรือมีปัญหาต่างๆ เช่น ขโมยของ ผัวเมียทะเลาะ ฯลฯ ชาวบ้านก็จะพากันมาสาบานกันต่อหน้าพระยายเขียด”
พ่อท่านจวนได้เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยก่อนให้พวกเราฟังด้วยสำเนียงสุ้มเสียงที่บ่งบอกว่าเป็นผู้มีอารมณ์เย็น ก่อนจะเน้นย้ำว่า
“หลายรายแล้วที่เสียชีวิตเพราะผิดคำสาบาน”
เห็นพ่อท่านขมังเวทย์อย่างนี้ วัตถุมงคลของท่านมีประสบการณ์อย่างนั้น แต่เมื่อท่านฟังเรื่องราวอภินิหารที่พวกเราขุดขึ้นมาเล่า ท่านกลับนิ่งเงียบ มีบางครั้งท่านก็จะหันไปมองยังโต๊ะหมู่ที่ตั้งอยู่ข้างๆ ก่อนพูดกับพวกเราว่า
“คุณพระรัตนตรัย บารมีของพระยายเขียดมาช่วยไว้”
ได้ยินแล้วต้องอมยิ้มกับการเสี่ยงระเบิดลงใต้ครับ
ไม่ผิดหวังเลยจริงๆ คำพูดของท่านแสดงให้เห็นว่า ท่านไม่เคยหลงว่าการที่คนรอดตาย ไม่ได้เป็นเพราะตัวของท่านเลย หากแต่เป็นเพราะบารมีของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านได้อัญเชิญมาสถิตย์ในวัตถุ มงคลต่างหาก
ผมถามทัศนคติกับการดำเนินชีวิตท่ามกลางความหวาดระแวง
“ชีวิตไม่มีอะไรหรอก การทำงานคือชีวิต ชีวิตคือการทำงาน การทำงานคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการทำงาน ชีวิตคือการมาคนเดียวแล้วก็ไปคนเดียว กลัวอะไรกับความตาย อยู่ก็ต้องอยู่ให้มีประโยชน์ ทำก็ให้ทำเพื่อผู้อื่น นั่นแหละคือการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าของชีวิต”
ครับ การทำความรู้จัก การทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเรื่องของชีวิต วัฒนธรรม วิถีแห่งผู้คน จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากเราไม่ออกไปพบปะกับผู้อื่น
“วัดยางแดง-พระพุทธรูปพระยายเขียด-พ่อท่านจวน”
ทั้งหมดนี้ทำให้ความหมายในการเดินทางของพวกเราครั้งนี้เพิ่มพูนมากขึ้น
รักจะเดินทางบนถนนเส้นนี้อยากถึงใจต้องไปให้ถึงที่ครับ ถ้ามั่นใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มีประโยชน์ต่อสังคมและคนหมู่มาก ก็ต้องมุมานะทำต่อไป ปรับปรุงแก้ไขได้แต่อย่าล้มเลิก เพราะที่สุดแล้วจะต้องมีคนเห็นความตั้งใจดีและตั้งใจจริงของเราแน่นอน
สมดุลของธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในเป็นสิ่งที่เรียกคืนได้ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และชัดเจน
“อยู่ก็ต้องอยู่ให้มีประโยชน์ ทำก็ให้ทำเพื่อผู้อื่น นั่นแหละคือการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าของชีวิต”
สวัสดีครับ
|