หลวงปู่วาส สีลเตโช วัดสะพานสูง 龙普瓦 瓦沙潘耸 Lp.was watsaphansung

หลวงปู่วาส สีลเตโช วัดสะพานสูง

หลวงปู่วาส สีลเตโช พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง แห่งวัดสะพานสูง

อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

เป็น ศิษย์เอกสืบสายธรรมจากหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่กลิ่น หลวงพ่อทองสุข และหลวงตาใย แห่งวัดสะพานสูง รวมทั้ง อาจารย์แปลก ร้อยบาง ฆราวาสจอมขมังเวทด้วย

พระสงฆ์ทุกรูปที่กล่าวนามมา ล้วนเป็นพระเกจิชื่อดังเรืองนามด้วยกันทั้งสิ้น

หลวงปู่วาส ครองตนอย่างสมถะ ไม่สะสมทรัพย์สินใดๆ มักน้อย ถือสันโดษ มานานหลายสิบปีแล้ว

ที่สำคัญท่านเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นพระนักพัฒนาที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในวัตรปฏิบัติและปฏิปทา

ปัจจุบัน หลวงปู่วาส สีลเตโช สิริอายุ 95 พรรษา 74



อัตโนประวัติ เกิดในสกุล เกิดน้อย เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2459 ที่บ้านในเขต อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายพัดและนางเลื่อน

เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีบรรพชา-อุปสมบท มี พระสุเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จ.นนทบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า "สีลเตโช"

สำหรับประวัติ หลวงปู่วาส ที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่เอี่ยม ชัดเจนที่สุด คือ หลวงปู่วาส สืบทอดพุทธาคมจากอาจารย์แปลก ร้อยบาง แห่งวัดสะพานสูง และยังเป็นทายาทโดยสายเลือดของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง โดยเป็นเหลนของทวดอิ่ม ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมอุทรของหลวงปู่เอี่ยม

นอกจากนี้ ยังมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน ที่เป็นทั้งน้าและอา เกี่ยวโยงเป็นญาติกัน

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2480 เมื่อครั้งที่ท่านบวชนั้น ทั้งหลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง และหลวงพ่อสุ่น ได้เดินทางไปร่วมงานฉลองพระใหม่ที่บ้าน และหลวงพ่อสุ่น ได้มอบหนุมานเนื้องาและผ้ายันต์ให้เป็นของที่ระลึก พร้อมกับบอกคาถาปลุกเสกหนุมานให้ด้วย

ส่วนพระอาจารย์ผันแห่งวัดอินทาราม ศิษย์เอกของหลวงปู่กลิ่น และเป็นผู้ที่สร้างพระปิดตา-พระลำพูน ถวายหลวงปู่กลิ่นแจกในงานแซยิด ครบ 6 รอบ

สำหรับพระอาจารย์ผัน ยังมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติผู้พี่ของหลวงปู่วาสด้วย

ส่วนหลวงพ่อจำปา พระเกจิอาจารย์ทางด้านสักยันต์ แห่งวัดสาลีโข มีศักดิ์เป็นหลวงน้าของหลวงปู่วาส

กล่าวกันว่า หลวงปู่วาสป็นผู้สืบทอดวิชาตะกรุดโสฬสมหามงคล ตะกรุดมหาอุด

ในอดีตที่ผ่านมา หลวงปู่วาส ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์แปลก ร้อยบาง ฆราวาสทายาทพุทธาคมยันต์มหาอุด



ตามความเดิมนั้น อาจารย์แปลก ร้อยบาง เป็นศิษย์ฆราวาส ร่ำเรียนวิชาการทำตะกรุดโสฬสมหามงคล มาจากหลวงปู่กลิ่น ในฐานะศิษย์สายตรง คนเดียวเท่านั้นที่เป็นฆราวาส ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเมืองนนทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง

จวบจนหลวงปู่กลิ่นมรณภาพ อาจารย์แปลกก็ยังคงจารตะกรุด จนถึงสมัยของหลวงปู่สุข และในครานั้นเองอาจารย์แปลก ได้ถ่ายทอดวิชาการทำตะกรุดมหาอุดให้หลวงปู่วาส

ส่วนหลวงตาใย ศิษย์หลวงพ่อทองสุข ได้ครอบครูยันต์โสฬสมงคลให้กับหลวงปู่วาสอีกด้วย

หลวงปู่วาสร่ำเรียนวิชานี้อย่างครบสูตรวิชาโสฬสมหามงคลและยันต์มหาอุดจนเกิด ความชำนาญ สามารถสานต่องานลงจารเขียนยันต์ด้วยจิตที่มีสมาธิแน่วแน่บังเกิดเป็นพุทธคุณ เห็นทันตาในยุคนั้น

ล่าสุด หลวงปู่วาส ได้สร้างเหรียญและรูปเหมือนขนาดบูชา 5 นิ้ว รุ่น 1 ของท่าน ได้นิมนต์พระคณาจารย์ชื่อดัง ร่วมปลุกเสกเพิ่มความขลังและพุทธคุณอันศักดิ์สิทธิ์ ก่อนมอบให้แก่ศิษยานุศิษย์ทุกคนที่เลื่อมใสศรัทธา รายได้จากการเช่าบูชาทั้งหมด ได้มอบสนับสนุนด้านการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดสะพานสูง (รถไฟนุเคราะห์)

นอกจากความเป็นพระเกจิชื่อดังแล้ว ในอีกด้านหนึ่งท่านยังเป็นพระนักพัฒนาด้วย

พ.ศ.2552 หลวงปู่วาสได้บริจาคปัจจัยที่คณะศิษย์ได้ร่วมทำบุญ จัดตั้งเป็นกองทุนเผยแผ่พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดสะพานสูง เป็นจำนวนเงิน 450,000 บาท นำไปเป็นค่าทุนการศึกษาส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มให้บุตรหลานชาวบ้านข้างวัดที่มี ฐานะยากจน มีนายวิเชียร พุทธิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานร่วมแจกทุนดังกล่าวด้วย



รวมทั้งทุนเรียนดีสำหรับนักเรียนที่สามารถสอบผ่านธรรมศึกษาชั้นตรี-โท และเอก รวมทั้งปรับแนวการเรียนการสอนธรรมศึกษาไม่ให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ด้วยการจัดสอนดนตรีไทยประเภทอังกะลุง และประเภทเครื่องสาย

ท่านได้สนับสนุนปัจจัยส่วนหนึ่งในการจัดหาเครื่องดนตรี รวมทั้งจัดให้มีการประกวดการแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดสะพานสูงในงานทำ บุญปิดทองหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่กลิ่น หลวงพ่อทองสุข ประจำปี 2553 มีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอปากเกร็ดและอำเภอใกล้เคียงร่วมส่งเข้าประกวดชิงถ้วยรางวัล

สำหรับการมอบทุนการศึกษาประจำปี 2553 หลวงปู่วาสยังได้มอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนยากจน ร่วมทั้งเด็กกำพร้า ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับปริญญาโท ทุกสาขาวิชา ตั้งแต่ 500-15,000 บาท

ท่านได้พัฒนาวัดสะพานสูงอย่างเป็นรูปธรรม ก่อสร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุจำนวนมากไว้เป็นอเนกประการ

หลวงปู่วาสจึงนับเป็นพระเกจิอาจารย์และพระนักพัฒนา ที่มีแต่ให้ ไม่เคยหวังผลจากความดีความชอบ หรือการตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านได้ปรารภกับศิษยานุศิษย์อยู่เสมอว่า "การส่งเสริมการเรียนการสอนให้กับเยาวชนของชาตินั้น อาตมาหวังเพียงต้องการสร้างเนื้อนาบุญให้กับบุตรหลานของพุทธศาสนิกชนให้เข้า หาธรรมะ เสมือนดังรากแก้วที่หยั่งลึกหาอาหารที่เป็นธรรมะ เพื่อสร้างน้ำเลี้ยงพุ่งผ่านแก่นธรรมในสภาพสิ่งแวดล้อมที่สังคมเสื่อมโทรม สู่ยอดธรรมะที่รุ่งโรจน์ของชาติในอนาคต"

ทุกวันนี้ หลวงปู่วาส ยังคงจารตะกรุดโสฬสมงคลและพระปิดตาสายวัดสะพานสูง เพื่อมอบให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญที่วัดสะพานสูง ซึ่งปัจจัยทุกบาททุกสตางค์ ได้นำไปร่วมทำบุญกับวัดและมอบกลับคืนสู่สังคม สร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาส ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ทำให้ท่านได้รับการยกย่อง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมและวิทยาคมเข้มขลังระดับแนวหน้าของเมืองนนทบุรีอีกรูปหนึ่ง